Monday, 30 December 2024

“รองช้ำ” โรคที่ทำให้เจ็บซ้ำๆ ได้ทุกก้าวเดิน

คนเราเกิดมาทุกคนก็ต้องเดินด้วยกันทั้งนั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า การเดิน การใช้ขาใช้เท้าอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ อาจนำพาเราไปสู่ความเจ็บปวดได้ในทุกก้าวเดิน ซึ่งหากถึงเวลานั้นขึ้นมาความสุขในการใช้ชีวิตเราก็คงลดน้อยลงไปอย่างมาก เพราะเดินเหินไม่คล่อง ทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวไม่สะดวกด้วยอาการเจ็บปวดคอยเล่นงาน ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกัน วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับ “โรครองช้ำ” กันให้มากขึ้น เพื่อให้แต่ละก้าวเท้าที่เราเดินในชีวิตนั้น มั่นคง และไม่เจ็บปวด

โรครองช้ำคืออะไร

โรครองช้ำคืออะไร ทำความรู้จักไว้เพื่อรู้เท่าทัน

“รองช้ำ” หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “ผังพืดฝ่าเท้าอักเสบ” เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเกิดจากการที่เราอายุมากขึ้น และใช้ชีวิตทำงานโดยใช้เท้าอย่างหนักเป็นประจำ ส่งผลให้เกิดความตึง ไม่ยืดหยุ่นบริเวณผังพืดฝ่าเท้า และเมื่อเกิดการใช้งานซ้ำๆ ร่วมกับไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ทำการบริหาร กล้ามเนื้อก็จะไม่ยืด จึงกลายเป็นอาการตึง อักเสบ และเจ็บในที่สุด ทั้งนี้ อาการเจ็บบริเวณส้นเท้าด้านฝ่าเท้า นอกจากจะเป็นโรครองช้ำแล้ว ก็ยังเป็นโรคอื่นๆ ได้อีกรองลงไป อาทิ โรคเนื้องอกผังพืดฝ่าเท้า โรคเส้นประสาทส้นเท้าอักเสบ ซึ่งก็จะทำให้มีอาการปวดร่วมกับอาการชา และทั้ง 3 โรคจะรู้สึกเจ็บบริเวณใกล้เคียงกันทั้งหมด หรือห่างกันประมาณ 0.5-1 ซม.

ปัจจัยใดบ้าง ที่สร้างโอกาสให้ป่วยเป็นโรครองช้ำ?

ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ทำให้เรามีโอกาสป่วยเป็นโรครองช้ำนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งจะพบว่าเป็นได้มากในกลุ่มช่วงคนวัยทำงานออฟฟิศมากกว่า เหตุผลเพราะในช่วงวัยที่เราเป็นนักเรียน นักศึกษา เรายังมีโอกาสได้ทำกิจกรรมสันทนาการ ได้ออกกำลังกาย ไปเที่ยว ทำให้มีการใช้งานเท้าในหลายๆ รูปแบบ เท้าของเราจึงได้มีการบริหาร ได้มีการยืดมากกว่า แต่ในช่วงชีวิตวัยทำงาน กิจวัตรประจำวันจะวนเวียนอยู่กับการอาบน้ำ แปรงฟัน ไปทำงาน นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ กลับบ้านแล้วก็เข้านอน ทำให้กล้ามเนื้อเท้าตึงตัวผิดปกติได้ เพราะไม่ได้ใช้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อตึงตัวสะสมเป็นเวลานาน หลายเดือน หรือเป็นปี ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บจากผังพืดฝ่าเท้าอักเสบได้ในที่สุด ทั้งนี้ การใช้งานเท้า ที่ทำให้กล้ามเนื้อน่องตึงตัวผิดปกติ คือตัวการสำคัญที่ทำให้ผังพืดฝ่าเท้าขาดความยืดหยุ่น และเพิ่มแรงกดบริเวณฝ่าเท้าให้เยอะขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรครองช้ำได้มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรครองช้ำ ก็ได้แก่ การมีน้ำหนักตัวเยอะ ทำให้เท้ารับน้ำหนักแรงกดทับมากขึ้น การเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะสม บีบรัดเท้าให้ผิดรูป เลือกรองเท้าที่พื้นรองเท้าบางเกินไป ทำให้เกิดแรงสะท้อนกลับสู่เท้า กระดูก ข้อ เอ็น มากขึ้น จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับเท้า และเมื่อใช้งานเท้าแบบเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ต่อไป ก็มีโอกาสกลายเป็นโรครองช้ำได้ในที่สุดนั่นเอง

อาการแบบไหน น่าสงสัยว่าเสี่ยงเป็นโรครองช้ำ?

อาการของโรครองช้ำ อาจเริ่มต้นด้วยอาการปวดเมื่อย ระบมเท้า มักจะรู้สึกแบบนี้หลังจากที่ทำงานใช้เท้ามาทั้งวัน แต่ความรู้สึกดังกล่าว ก็อาจไม่ได้หมายถึงว่าเป็นโรครองช้ำเสมอไป แต่อาจเกิดจากการสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ ก็ได้ ทั้งนี้ อาการแสดงที่ชัดเจนของโรครองช้ำที่เป็นเอกลักษณ์เลยก็คือ “เจ็บปวดทุกก้าวที่เดิน” ตื่นเช้ามาเดินก้าวแรกจะรู้สึกเจ็บแปลบ เพราะในตอนนอน เท้าของเราจะอยู่ในท่าปลายเท้าตก ทำให้เอ็นร้อยหวายงอค้างอยู่ และเมื่อเราตื่นมาเดินก้าวแรก ผังพืดฝ่าเท้าที่ตึงตัวงออยู่ ก็จะเกิดการฉีกออก และจากนั้นก้าวต่อๆ ไปทุกก้าวก็จะเจ็บไปเรื่อยๆ ลุกไปทานข้าว เดินไปเข้าห้องน้ำ จากที่นั่งทำงานนานๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถเดินไปไหนก็จะเจ็บตลอด แต่จะเจ็บน้อยลงกว่าก้าวแรก หากพบว่าตัวเองตื่นเช้ามาเดินแล้วมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นโรครองช้ำ

รักษาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรครองช้ำ?

แนวทางหลักในการรักษาโรครองช้ำ แพทย์จะเน้นไปที่ “การบริหาร” เป็นสำคัญ เพราะการรับประทานยาจะมีผลน้อยมาก เนื่องจากปัญหาจริงๆ เกิดจาก “ความไม่ยืดหยุ่นของผังพืดฝ่าเท้าและกล้ามเนื้อน่อง” การรับประทานยา เป็นการบรรเทาอาการปวด ลดอักเสบ ซึ่งการอักเสบก็เกิดจากความตึงตัวจนมีการฉีกขาดและเจ็บปวดในที่สุด ดังนั้น การรับประทานยาจึงไม่ได้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ที่ไม่สามารถหยุดวงจรการกลับมาตึง และฉีกขาดจนเกิดอาการเจ็บได้ แพทย์จึงจะใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยเจ็บปวดมากจริงๆ และให้ยาเพียงช่วงแรก เพื่อให้คลายปวดลง แล้วทำการบริหารให้ผังพืดฝ่าเท้า และกล้ามเนื้อน่อง กลับมามีความยืนหยุ่นอีกครั้ง โดยหากบริหารสำเร็จ ผังพืดที่เป็นต้นตอของอาการเจ็บปวดก็จะหายไป ซึ่งจะใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม หากบริหารแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็จะมีมาตรการในการรักษาขั้นอื่นๆ ดังต่อไปนี้

1. การ Shock Wave เป็นวิธีการรักษาโดยใช้คลื่นเสียงกระแทกตัวผังพืดที่ตึงมากๆ และมีการอักเสบให้คลายตัวออก เพื่อกระตุ้นให้ซ่อมแซมตัวเอง ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดี เหมาะกับกลุ่มคนไข้ที่บริหารเป็นระยะเวลา 3-6 เดือนแล้วไม่ดีขึ้น

2. การฉีดสเตียรอยด์ แม้จะได้ผลดี แต่ก็เป็นวิธีการรักษาที่มีความเสี่ยง โดยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดได้ เช่น ผังพืดฝ่าเท้าฉีกขาด ทำให้เท้าแบน และอาจปวดส้นเท้าเรื้อรัง ไขมันที่เท้าหดตัว ทำให้กระดูกส้นเท้ารับน้ำหนักมากขึ้น เกิดเป็นภาวะกระดูกส้นเท้าอักเสบได้ หรือสุดท้ายที่ร้ายแรงที่สุดคือมีโอกาสติดเชื้อ ซึ่งจะกลายเป็นต้องรักษาต่อเนื่องซับซ้อน และต้องพักฟื้นนานเป็นเวลาหลายเดือน

3. การผ่าตัด ทำได้ทั้งแบบส่องกล้อง และแบบผ่าตัดเปิดแผล โดยวัตถุประสงค์คือผ่าเพื่อตัดบริเวณผังพืดฝ่าเท้าที่ตึงออก โดยตัดออกประมาณ 1/3 ของทั้งหมด เพื่อให้หย่อนตัวลง แต่ทั้งนี้ การผ่าตัดแบบส่องกล้องจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยกว่า ฟื้นตัวได้ไวมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล

แม้โรครองช้ำจะไม่ใช่โรคที่อันตรายร้ายแรง แต่หากเป็นขึ้นมาก็จะสร้างปัญหาและความลำบากให้กับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก อีกทั้งการรักษา ก็อาจไม่ง่ายและกินระยะเวลายาวนาน ใช้ค่าใช้จ่ายมากมายกว่าที่คาดคิด ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการดูแลเท้าตัวเองให้ดี หมั่นออกกำลังกาย บริหารเท้าสม่ำเสมอ เลือกใส่รองเท้าให้ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าแฟชั่นเป็นเวลานานๆ จึงถือเป็นแนวทางในการป้องกัน ให้เราห่างไกลจากโรครองช้ำได้มากขึ้น ให้เราได้มีเท้าที่แข็งแรง เอาไว้ใช้งาน เดินทางทำกิจกรรมได้อย่างคล่องแคล่วเป็นปกติ และนอกจากการดูแลเท้าตัวเองตามที่กล่าวมาจะสำคัญแล้ว ก็อย่าเผลอลืมเด็ดขาดด้วยว่า หากเช้าตื่นขึ้นมาเดินก้าวแรกแล้วเจ็บแปล๊บ และก้าวต่อๆ ไปยังเจ็บอยู่ ก็ขอให้รู้ไว้ได้เลยว่า ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยด่วน

 

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai3hospital